ครูชัยวัฒน์ สมเกียรติประยูร โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเริ่มใช้เครื่องมือ GPS เครื่องมือง่ายๆที่นักเรียนรู้จักมาเป็นจุดเริ่มต้นสอนวิชาภูมิศาสตร์ การปักหมุดจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่งไม่ใช่แค่คำนวณระยะเวลาเพื่อการเดินทางเท่านั้น แต่เขาได้ใช้คำถามสำคัญว่าว่า “ระหว่างทางนักเรียนเห็นความความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง”

ครูชัยวัฒน์ ตั้งใจว่า วิชาภูมิศาสตร์ สิ่งแรกคือการให้นักเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะGPS เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนใช้เป็นประจำ ไม่อยากให้เป็นเพียงเปิดดูทางซ้าย-ขวา แต่นักเรียนต้องรู้วิธีเดินทาง ดูระยะเวลาการเดินทางเป็น รวมถึงตัดสินใจที่จะเลือกการเดินทางรูปแบบต่างๆได้ “ ที่สำคัญสุดคือ ระหว่างทาง เราอยากให้เด็กมองพื้นที่ระหว่างทางบ้าง ระหว่างที่เขาเดินผ่านเส้นทางนี้ เขาเห็นอะไร ความเป็นอยู่ ความไม่เป็นธรรม ของคนรอบข้างเป็นอย่างไร”

ดังนั้นวิธีการในห้องเรียน ครูชัยวัฒน์ได้ให้นักเรียนใช้มือถือ เพื่อค้นหาสถานที่รอบๆโรงเรียนที่นักเรียนคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น ห้าง สรรพสินค้า วัด ชุมชนแอดอัดย่านคลองเตย มีโจทย์เริ่มต้นง่ายๆว่า จากสถานที่เหล่านี้เดินทางมาโรงเรียนไปอย่างไรได้บ้าง
.
จากนั้นให้นักเรียนวาดเส้นทางเหล่านั้นออกมา พอเด็กวาดรูปเสร็จ ก็ให้พวกเขาวิเคราะห์ว่า เมื่อเราเปิด Google map เราใช้เวลาเดินทางกี่นาที แล้วถ้าเราเดิน นั่ง Grab หรือขนส่งสาธารณะ มีการใช้เวลาต่างกันหรือไม่ แล้วตัวเราจะมีวิธีการเดินทางอย่างไร ก็คือให้เด็กเอาข้อมูลพื้นฐานกรอกลงไปในกระดาษเลยให้นักเรียนช่วยตั้งข้อสังเกต
.
“ตัวอย่างหนึ่ง เส้นทางระหว่างชุมชนแอดอัดฝั่งคลองเตยไปจนถึงโรงเรียน นักเรียนเขาสะท้อนออกมาว่าระหว่างทางไม่ค่อยเห็นระบบขนส่งสาธารณะเลย เด็กเขาเห็นว่าฝั่งคลองเตยด้านหลัง จะไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน ห้างสรรพสินค้าใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อก็แทบจะไม่มี เวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็จะลำบาก จากตรงนี้เราก็ชวนเขาคุยต่อว่า แล้วเขาเดินทางมาอย่างไร เขาก็บอกว่าเดินบ้าง นั่งวินมาบ้าง หรือบางทีก็กระโดดขึ้นรถสิบล้อมาเลย”

“แต่ขณะเดียวกันเราก็ลองให้นักเรียนปักหมุดจากฝั่ง อ่อนนุช มาที่โรงเรียน ซึ่งเป็นโซนรถไฟฟ้าBTS เขาก็จะเห็นอีกมิติหนึ่งเลยว่า บริเวณฝั่งนี้กลับมีระบบขนส่งเข้ามา แล้วก็จะเห็นว่าสถานที่ต่างๆเหล่านี้เข้าถึงได้ง่าย สุดท้ายเราตั้งคำถามว่า แล้วถ้าไม่มีเงินเราจะเดินทางอย่างไร ทำไมพื้นที่บริเวณหนึ่งมีคนยากจนอาศัยอยู่มาก แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเลยจากทางรัฐ “
.
เด็กเคยพูดว่า ปกติไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักการเมือง หรือหน่วยงานเอกชนมาก็มาแบบไม่จริง ทั้งหมดนี้เราอยากให้เด็กเห็นว่าระหว่างทางเราเห็นความไม่เป็นธรรมอะไร แล้วเราจะมีวิธีการส่งเสียงอย่างไรให้ภาครัฐเข้ามาดูแลจัดการ


ออกแบบภาพ : Chaipat Kaewjaras

#thaiciviceducation
#civicclassroomTCE