อำนาจของวิชาประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือในการบ่มเพาะอุดมการณ์รักชาติกำลังถูกบั่นทอนลง เนื้อหาที่เคยต้องผ่านคัดกรองโดยผู้มีอำนาจว่าความทรงจำร่วมแบบใดควรถูกจำ และอะไรควรถูกทำให้ลืม ตอนนี้คนกลับเข้าไปอ่านบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วยการพิมพ์เพียงไม่กี่คำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเรียนทุกวันนี้สามารถพูดถึงการสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอดีตเข้ากับบทบาทการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปัจจุบัน ไปจนถึงตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของชนชั้นนำกับเหตุการณ์สังหารนักศึกษาและประชาชนที่ไม่ถูกกล่าวถึงอยู่ในหนังสือเรียน
.
เรากล่าวได้ว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบเดิมที่มีครูเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ไม่ตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนอีกต่อไปภายใต้บริบทการสื่อสารที่เปลี่ยนไปนี้ จนนำมาสู่คำถามว่า ภาคการศึกษามีความพยายามในการปรับตัวอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ควรต้องปรับตัวอย่างไรในยุคที่นักเรียนสามารถหาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง และเป็นไปได้ไหมว่าเราไม่จำเป็นต้องง้อรัฐให้เอาเรื่อง 6 ตุลาฯ ไปใส่ในหนังสือเรียนอีกต่อไปแล้ว เราจะพยายามหาคำตอบนี้จากสนทนากับครูเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง 5 ท่าน คือ ครูโจ้ ครูโอ ครูเมษ์ ครูนิว และครูพล
.
ข้อท้าทายของครูในการพยายามสอนเรื่อง 6 ตุลาฯ
.
ปรากฏการณ์ที่นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนั้นอาจตีความได้ในสองทาง ในด้านหนึ่ง มันแปลว่านักเรียนมีความสงสัยใคร่รู้ในเหตุการณ์ทางสังคมมอย่างจริงจัง พวกเขาสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองได้ และรู้จักวิธีใช้สื่อเพื่อตอบโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องชี้วัดอย่างดีว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่ตอบรับความสนใจของผู้เรียนจนทำให้พวกเขาต้องออกไปหาข้อมูลในเรื่องที่สนใจด้วยตัวเอง
.
จริงอยู่ที่วิชาประวัติศาสตร์ไม่สามารถกล่าวถึงได้ทุกเหตุและจำเป็นต้องละบางประเด็นออกไป แต่เหตุการณ์เดือนตุลาฯ มีความพิเศษและสำคัญอยู่เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบ ผู้คนที่มีส่วนร่วมหรือสูญเสียคนรักในเหตุการณ์นั้นยังคงมีชีวิตอยู่และได้รับผลกระทบของมันจนวันนี้ แม้คนแต่ละคนจากแต่ละรุ่นอาจจะมีภาพจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่แตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทย เรื่องราวของ 6 ตุลาฯ ยังถูกกล่าวถึงในเชิงเปรียบเทียบอยู่เรื่อยๆ เมื่อเกิดความรุนแรงทางการเมือง และยังคงมีการจัดงานรำลึกอยู่เป็นประจำทุกปี
.
และเรื่องเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดไปถึงนักเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่พวกเขาใช้เป็นประจำ หากวิชาประวัติศาสตร์มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจปัจจุบันและอนาคตผ่านบทเรียนจากอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยิ่งเป็นเนื้อหาเลี่ยงไม่กล่าวถึงไม่ได้
.
หากเราละเรื่องความตั้งใจของผู้มีอำนาจในการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรียนไว้ในฐานที่เข้าใจว่าพวกเขาไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ในหลักสูตร แล้วลองถามว่าเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ครูผู้สอนจะพยายามหยิบเรื่องนี้เข้ามาสอนอย่างจริงจังด้วยตัวเอง สิ่งที่เราพบก็คือ โครงสร้างหลักสูตรเองเปิดช่องว่างให้ครูสามารถสอนเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการสอนเรื่อง 6 ตุลาฯ จะเกิดขึ้นจริงหรือเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังมีเงื่อนไขจำนวนมากที่ทำให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ไม่สามารถปรับตัวได้ นั่นคือ
.
1) ข้อมูลและทักษะในการสอนเรื่อง 6 ตุลาฯ ของครูผู้สอนมีจำกัด ผลของการที่หนังสือเรียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในหนังสือเรียนเพียงน้อยนิดและผิวเผิน คือ ภาระในการหาข้อมูลความรู้เพื่อนำมาสอนต้องตกที่อยู่ครูผู้สอนทั้งหมด ครูจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่บนเว็บไซต์ และต้องใช้เวลานานในการย่อยข้อมูลวิชาการเหล่านั้นให้กลายเป็นเนื้อหาและเครื่องมือประกอบการสอนที่สามารถนำไปใช้สอนได้ทันที และควรตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการหวังพึ่งความสามารถและความต้องการส่วนบุคคลของครูในการสอนแล้วยิ่งเป็นไปได้ว่านักเรียนจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หากไม่ก็ได้เรียนโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ส่งเสริมทักษะในการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
.
2) แนวคิดการสอนประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญผิดจุดทั้งเนื้อหาและกระบวนการ เป้าหมายการสอนประวัติศาสตร์ตามที่ระบุในตัวชี้วัดมี 3 ประการด้วยกัน คือ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกรักชาติ มีทักษะทางประวัติศาสตร์ และสามารถนำความรู้ทางประวัติศาสตร์มาปรับใช้ กล่าวได้ว่าเป็นการดูที่เนื้อหา ทักษะ และการปรับใช้ตามลำดับ แต่ปัญหาของการสอนประวัติศาสตร์ในไทยก็ คือ ครูจำนวนมากมักเน้นไปที่เป้าหมายแรกในการสร้างความรู้สึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ละเลยการสอนเพื่อเป้าหมายด้านทักษะและการประยุกต์
อีกทั้งการสอนเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยยังให้น้ำหนักอย่างผิดที่ผิดทาง โดยเน้นเนื้อหาเรื่องประวัติศาสตร์ยุคโบราณมากกว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และกระบวนการสอนไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง
.
3) ครูมีสิทธิเลือกว่าจะไม่ต้องสอนก็ได้ คำอ้างสองข้อมักถูกใช้เพื่อจะไม่ต้องสอนเรื่อง 6 ตุลาฯ ก็คือ 1) เวลาสอนไม่พอ เพราะต้องเอาไปสอนอย่างอื่น และเมื่อประกอบกับการสอนเรื่องเหตุการณ์ตุลาฯ ที่ต้องใช้ความรอบคอบในการสอนและให้เวลาที่เพียงพอให้ผู้เรียนได้คิดอย่างละเอียดทั้งที่ผู้สอนอาจมีข้อมูลจำกัดดังที่ได้กล่าวไป ยิ่งทำให้ครูเลี่ยงที่จะสอนเรื่องนี้ และ2) ข้อสอบมาตรฐานการศึกษาระดับชาติอย่าง O-NET มักจะไม่ออกคำถามเรื่องเหตุการณ์เดือน หรือหากมีก็จะเป็นคำถามที่ผิวเผิน ดังนั้น ครูจึงใช้เป็นเหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นตอนเน้นการสอนเรื่องนี้ คำอธิบายนี้แสดงถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าแค่เรื่องการสอนประวัติศาสตร์ คือระบบการศึกษาแบบ “ถ้าไม่ต้องสอบก็ไม่ต้องสอน” ที่หมุนรอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เน้นการสอนเรื่องเนื้อหามากกว่าทักษะการคิด
.
4) เสี่ยงต่อการกระทบกับครูผู้ร่วมงาน การสอนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยคือการกล่าวถึงเรื่องใกล้ตัว จึงเป็นเรื่องยากที่ครูจะสอนเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเป็นกลาง อีกทั้งยังต้องระวังไม่ให้การสอนของตนถูกตีความไปในทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ การสอนเรื่อง 6 ตุลาฯ มีโอกาสทำให้ครูผู้สอนถูกเพ่งเล็งหรือเกิดความขัดแย้งในกลุ่มครูได้ เนื่องจากผู้สอนที่เลือกหยิบเรื่องนี้เข้ามาสอนอาจถูกมองเป็นพวก “หัวรุนแรง” โดยเฉพาะในมุมมองจากครูรุ่นเก่า
.
ข้อจำกัดในมุมมองของผู้ปฏิบัติข้างตนนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ในห้องเรียนเกิดขึ้นได้ยาก และสร้างแรงผลักให้กระบวนการเรียนรู้ต้องไปเกิดขึ้นนอกห้องเรียน นักเรียนที่สนใจก็อาจจะไปหาความรู้ด้วยตัวเองแล้วนำมาถามครู ซึ่งก็ยังคงผลิตซ้ำการหาความรู้แบบด้านเดียว และพลาดโอกาสอันมีค่าในการให้นักเรียนได้ร่วมกันมองเหตุการณ์จากหลายมุมมองและใช้หลักฐานหลายชุดมาประกอบการตัดสินใจเชื่อ
_____
โปรดติดตามตอนที่ 2 ได้เร็วๆนี้
.
เขียนและเรียบเรียง: ภี อาภรณ์เอี่ยม
ผู้ให้สัมภาษณ์:
ศรัณยพงศ์ จันทะศรี (ครูโจ้)
ปราศรัย เจตสันติ์ (ครูโอ)
ฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ (ครูเมษ์)
ชมภ์พลอย จิตติแสง (ครูนิว)
อรรถพล ประภาสโนบล (ครูพล)