เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 สะท้อนอะไรได้บ้าง ?
ทำไมโรงเรียนไทยต้องสอนเรื่องดังกล่าว ?
แล้วครูจะสอนเรื่องนี้อย่างไรดี ?
.
อ่านบทสัมภาษณ์ Civic Teacher ตอนที่ 8 : ทำไมโรงเรียนไทยต้องสอนเรื่องการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519

ผมมองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยว่าการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลัง แล้วลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรงจากผู้มีอำนาจของรัฐแบบเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาชุมนุม ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยที่ต้องการไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ อภิสิทธิ์ชน ชนชั้นปกครอง ระบบอุปถัมภ์ยังคงแข็งแกร่งและกดขี่ประชาชนผู้เห็นต่างมาจนถึงทุกวันนี้
.
เหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่ารัฐจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นศัตรู การสอนเหตุการณ์ 6 ตุลา ในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าหากสังคมที่เราอยู่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมอย่างที่ผู้มีอำนาจกระทำกับประชาชนผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถ้าสังคมเราดีกว่าที่เป็นอยู่ เหตุการณ์ร้ายแรงแบบ 6 ตุลา ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
.
ก่อนที่จะสอนเหตุการณ์ 6 ตุลา เราต้องยอมรับก่อนว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่เรารับรู้กันมาในโรงเรียนมันมีกระแสเดียว แต่ในระดับมหาวิทยาลัยเราได้เรียนประวัติศาสตร์หลากหลายกระแส เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่หลากหลายกระแส หลายแง่มุม และนำข้อเท็จจริงที่ได้มาคุยกันในห้องเรียน วางความคิด ความเชื่อแบบเดิม ๆ ลงก่อน แล้วมองคนทุกคนด้วยความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน หลังจากนั้นนักเรียนจะรู้สึกอย่างไร และรับรู้อย่างไรปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่นอกเหนือจากนั้น เราต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ภายใต้พื้นฐานความคิดของหลักสิทธิมนุษยชน (Human rights) และหลักการของประชาธิปไตย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็อาจจะเกิดอคติขึ้นได้ หากเรามองว่ามนุษย์หรือคนบางคนสูงส่งกว่าคนอีกคน
__
ครูคมสัน กิมาลี
โรงเรียน จารุศรบำรุ

มองว่า เหตุผลที่โรงเรียนเรียนต้องสอนเรื่อง 6 ตุลา เพราะเป็นเหตุการณ์จริงที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเห็นการณ์น่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่พยายามถูกทำให้ลืมในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นโรงเรียนควรมีหน้าที่สอนประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้ลืมเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สะท้อนถึงความโหดร้ายและความมืดมนของสังคมไทย
.
ดังนั้นในสอนการสอน ก็จะนำข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลา มาให้นักเรียนได้ศึกษาและวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอย่างไรรวมถึงอาจนำเอาภาพยนตร์มาให้นักเรียนชม เพื่อทำความเข้าใจวิวัฒนาการประชาธิปไตย ประกอบกับการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นแล้วให้นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์เนื้อหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยอย่างไร แล้วทำการเชื่อมโยงสู่ปัจจุบัน
___
ครูปาวรีย์ ขาวสมบูรณ์
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา

การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 19 ควรเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ ให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าบนความจริง และ ความจริงที่ว่าก็ไม่ควรถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการสอนโดยการสร้างวงสนทนา จากการค้นคว้าข้อมูลที่เป็นชุดเรื่องเล่า (Narrative)จากบุคคลในเหตุการณ์ โดยตัวนักเรียนเองเป็นสิ่งสำคัญ
___
ผศ.ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ


ออกแบบภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation
#civicclassroomTCE