ครูชัยภัทร แก้วจรัส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มองว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิดจากผู้มีอำนาจมาโดยตลอด แต่ห้องเรียนของเขา กลับนำข้อมูลและหลักฐาน จากอีกแง่มุมหนึ่ง(คนละชุดกับรัฐ) มาให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยน สำรวจความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ และวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เกิดขึ้น

เรื่องการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มันส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก เราจึงเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยควรทำให้นักเรียนที่เขาเคยเดินผ่านพื้นที่ดังกล่าว หรือเติบโตมาในประเทศนี้ได้เรียนรู้และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
.
เรื่อง 6 ตุลา เราจึงให้นักเรียนเริ่มเรียนรู้จากความรู้สึก (Emotional) มากกว่าการสรุปโดยย่อจากหนังสือ เพราะการใช้อารมณ์ความรู้สึกมันทำให้เราลุ่มลึกต่อการรับรู้ ซึ่งเป็นจุดที่จะทำให้นักเรียนตระหนักได้ว่า สิ่งที่เขารู้สึกนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และจึงค่อยเชื่อมโยงถึงมีเงื่อนไขและปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิด 6 ตุลาขึ้นมา แล้วมันมีการคลี่คลายหรือถูกจดจำไปอย่างไร ประกอบกับการใช้ Timeline ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบันมาให้ นักเรียนได้เห็นภาพกว้างของประวัติศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบการถกเถียงอีกด้วย

เราจึงเน้นการเล่าข้อมูลคร่าวๆว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง จากนั้นหยิบยกสาเหตุขึ้นมาพูดคุย รวมถึงผลที่เกิดขึ้นมาจากการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ โดยมีการใช้คำถามสำคัญ เช่น 1) จากเหตุการณ์ดังกล่าว เขามีความรู้สึกอย่างไร 2) หากเป็นเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาจะทำอย่างไร หรือสัมผัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร ซึ่งคำตอบของนักเรียน บอกว่าเขารู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกว่าสิ่งที่เขาเพิ่งรับรู้มานั้น แบบเรียนไม่เคยบอก สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐกำลังซ่อนเร้นความความจริงอันโหดร้ายทารุณเอาไว้จากประวัติศาสตร์ประเทศ และ 3) หากเราเป็นบุคคลที่สูญเสียหรือเกี่ยวข้องกับเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างกรณีรุ่นพี่ของเขา “วิชิตชัย อมรกุล” นักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ เราจะมีวิธีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่สูญเสียเหยื่อไป จากการถูกกระทำแบบนั้น และตระหนักว่าเขาจะสื่อสารอย่างไรกับสังคมปัจจุบันที่เขาอาศัยอยู่

มากไปกว่านั้น กระบวนการสอน ครูต้องยกระดับมุมมองของนักเรียนให้ได้ ให้เขามองเห็นว่าบริบทในระดับโลกในเวลานั้นมันเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร อาทิ สงครามเย็น และมุมมองแนวคิดอะไร ที่แต่ละกลุ่มใช้เป็นเหตุผลหรือเครื่องมือในการอธิบายการกระทำของเขา รวมถึงเชื่อมให้เห็นว่า สื่อในสมัยนั้นมันสามารถสร้างเงื่อนไขอะไรบางอย่างทำให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นมา
.
สิ่งสำคัญ เมื่อสอนทุกครั้ง เรามักจะย้ำเสมอว่า ครูไม่ได้มีความเป็นกลางทางความเชื่อในสังคม แต่สิ่งสำคัญจากการเรียนกับครู คือ นักเรียนต้องกล้าที่จะพิจารณา วิเคราะห์ ชั่งน้ำหนักกับสิ่งที่ครูพูด ว่าเราจะเชื่อหรือไม่ ดังนั้นกระบวนการแลกเปลี่ยน (discuss) และถกเถียงกัน จึงเป็นวิธีการสำคัญในการสอนอย่างมาก เพราะวิธีการดังกล่าวช่วยทำให้เกิดการตกผลึกต่อความความรู้ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ถึงแม้บางส่วนของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องความจำ แต่สิ่งสำคัญเราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงต่อสังคมและผู้คนอย่างไร


ออกแบบภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation
#civicclassroomTCE