สารคดีเรื่อง School Life ฉายภาพชีวิตประจำวันของนักเรียนประถมในโรงเรียนประจำ Headfort ที่ตั้งอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งมีเด็กนักเรียนทั้งจากในพื้นที่ และเด็กต่างชาติที่อาจมาจากแดนไกล เช่น ประเทศแทนซาเนีย และเกาหลีใต้ สารคดีบอกเล่าเรื่องราวตลอดหนึ่งปีการศึกษา และแสดงให้เราเห็นภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิตนักเรียนทั้งเก่าและใหม่  School life ทำให้ชวนเราคิดถึงเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน และการจัดการสภาพแวดล้อมโรงเรียนที่ส่งผลต่อการตัวตน ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้สึกมีส่วนร่วมของนักเรียน

ตั้งแต่เริ่มปีการศึกษา ครูใหญ่ของโรงเรียนสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจถึงอำนาจเหนือการเรียนรู้ของตัวเอง ครูใหญ่กล่าวว่า “…พวกเธอสามารถควบคุมหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำได้ การศึกษาของเธอขึ้นอยู่กับตัวเธอและพวกครูพอ ๆ กัน มันเลยขึ้นอยู่กับเธอที่จะหาคำตอบว่าเธอสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง พวกเธอทุกคนเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเองอยู่แล้ว” เบื้องหลังประโยคเหล่านี้คือการสร้างอำนาจ (empowerment) ให้กับนักเรียนในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งความเชื่อนี้จะแสดงออกผ่านการกิจกรรมและบทสนทนาย่อย ๆ จำนวนมาก

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนตลอดทั้งเรื่องมีความหมายในการส่งเสริมความเป็นตัวตนของเด็ก หลายครั้งห้องเรียน ห้องนอน และสนามเด็กเล่น ดูเหมือนตกอยู่ในความอลหม่าน แต่สถานการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่ครูในโรงเรียน Headfort ถูกฝึกมาให้ยิ้มรับกับมัน  ครูจะถามเหตุผลนักเรียนเสมอว่ากำลังทำสิ่งหนึ่งด้วยเหตุผลอะไร แม้ว่าจะเห็นเขาเดินอยู่คนเดียวนอกห้องเรียน โดยไม่ได้ทึกทักไปก่อนว่าเขากำลังหนีเรียน  ในห้องเรียนที่ครูกำลังสอนนักเรียนให้ไม่หัวขบถมากนัก กลับถูกนักเรียนสวนกลับว่าครูเองก็เคยทำนิสัยขบถตอนที่เป็นนักเรียนเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือ ครูตอบรับว่าสิ่งที่นักเรียนพูดเป็นความจริง ในอีกฉากหนึ่ง แม้ครูจะมองว่านักเรียนกำลังเถียง แต่นักเรียนก็มีความกล้าในการบอกว่า “ผมไม่ได้เถียง ผมกำลังอธิบาย” ซึ่งหากเป็นห้องเรียนไทย คงเดาได้ไม่ยากว่าเด็กคนนี้คนต้องถูกมองว่าเถียงคำไม่ตกฟาก ทำให้เด็กไม่กล้าจะอธิบายอะไรต่อ แม้เขาอาจมีเหตุผลที่ดีพอ  นอกจากนี้ ห้องเรียนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอีกด้วย เช่น การแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นตาที่นักเรียนระดับประถมสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจ

การวางปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในภาพยนตร์ชวนให้เรากลับมาคิดเรื่องวิธีที่ครูไทยมองการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนและความเชื่อใจที่ครูให้กับนักเรียนกันเสียใหม่  ครูใน Headfort เริ่มจากเข้าใจว่าความสวยงามของวัยเด็กคือการได้แสดงออก ซุกซน และการมีความคิดที่หลุดออกไปจากกรอบของสังคม  การแสดงออกในลักษณะอำนาจนิยมที่ใช้การออกคำสั่งจึงมีให้เห็นน้อยมาก ซึ่งเป็นช่องทางให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างเต็มที่และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน  ความเชื่อใจเหมือนการสื่อสารสองทาง นักเรียนจะต้องเชื่อใจครูเพียงพอที่จะเผยตัวตนของเราผ่านการแสดงความคิดเห็น ในขณะที่ครูต้องเชื่อใจในความมีเหตุผลของนักเรียนเพียงพอที่จะรับฟังเหตุผลของเขาโดยไม่ทำลายความเชื่อใจนั้นด้วยการสั่งให้พวกเขาหยุดพูด  สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อใจก็คือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทุก ๆ การกระทำและต้องสั่งสมเป็นเวลานาน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถใช้อำนาจเพื่อทุบตีความคิดเห็นของเด็กนอกห้องเรียนแล้วหวังจะให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนได้  เพราะความเชื่อใจของนักเรียนไม่ได้มีสวิทช์เปิด-ปิดตามเสียงกริ่งเริ่มคาบเรียน ซึ่งได้ไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่นัก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงเรียนในไทยล้มเหลวในการสร้างความเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียน  ครูมักไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และลดทอนความคิดนั้นให้เป็นเพียงแค่การเถียงข้าง ๆ คู ๆ เสมอ และเก็บไปวิจารณ์ในห้องพักครูว่าเด็กคนนี้ “หัวรุนแรง” หรือ “ดื้อ” ซึ่งเป็นการแขวนป้ายที่แฝงไปด้วยอคติ  ผลก็คือเด็กรู้สึกว่าความคิดของตัวเองไม่สำคัญ ขาดความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม  นอกจากนี้ ห้องเรียนของเรามีการหยิบยกประเด็นทางสังคมมาพูดคุยกันน้อยมาก เพราะเราไม่เชื่อความสามารถในการวิเคราะห์ประเด็นที่ซับซ้อนได้ ทั้งที่ครูเองต่างหากคือผู้ที่พรากความมั่นใจนั้นไปจากพวกเขา

ที่ Headfort ตัวตนของนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนผ่านการจัดการพื้นที่โรงเรียน  นักเรียนสามารถเล่นกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ตั้งแต่เล่นกีฬา เล่นดนตรี ไปจนถึงการวาดรูปบนผนัง เขียนสีชอล์กบนพื้นถนน และซ่อมตู้ นักเรียนสามารถสร้าง “ป้อมปราการ” กิ่งไม้ในพื้นที่สวนของโรงเรียนได้ โดยมีครูให้ระวังเรื่องความปลอดภัย ครูอแมนด้ากำกับการแสดงเรื่อง แฮมเล็ต ในขณะที่ครูจอห์นให้รวมนักเรียนเพื่อสร้างวงดนตรีร๊อค ซึ่งในท้ายที่สุด เด็ก ๆ จะได้มีโอกาสแสดงความสามารถของเขาให้คนนักเรียนคนอื่น ๆ เห็น ผ่านการแสดง  ในแง่กระบวนการ หลาย ๆ ครั้ง การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการไม่สอนแต่ปล่อยให้นักเรียนได้เล่น ทดลอง และทำผิดพลาด โดยมีครูคอยเพียงสังเกตอยู่ห่าง ๆ เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงตัวตนผ่านการลองผิดลองถูก และเมื่อนั้นนักเรียนจะกลายเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง

แน่นอนว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีหลายประเด็นที่สามารถเรียนรู้ได้จากโรงเรียน Headfort แต่ก็มีข้อควรคำนึงการใช้แนวทางของโรงเรียนนี้เช่นกัน การเล่าเรื่องของสารคดีนี้ไม่ทำให้ผู้ชมอย่างเราเห็นการทำงานของครูมากนักซึ่งอยู่เบื้องหลังการสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน  และบดบังภาพใหญ่ของการบริหารการจัดการการศึกษา  แม้เราจะเห็นหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก แต่เรายังคงต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนี้จะใช้กับที่อื่นได้แค่ไหน การถ่ายทำเน้นไปที่ครูสองคนเป็นหลัก คืออแมนด้า และ จอห์น เลย์เดน ผู้เปี่ยมประสบการณ์ จึงน่าสงสัยว่าการพึ่งพาความสามารถเฉพาะตัวจะส่งผลต่อความยั่งยืนของคุณภาพการสอนอย่างไร เมื่อทั้งสองต้องเกษียณอายุไป  นอกจากนี้ โรงเรียนนี้ยังมีความเฉพาะสูง เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำที่มีนักเรียนจำนวนน้อย ทำให้ครูมีเวลาในการอยู่กับนักเรียนมาก และสามารถสังเกตพัฒนาการทุกด้านของนักเรียน ในขณะที่โรงเรียนปกติ ผู้ปกครองส่งผลอย่างมากต่อการใช้เวลาว่างเด็ก  อีกทั้งห้องเรียนขนาดเล็ก ที่มีผู้เรียนไม่เกิน 10 คน ยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนมากขึ้น และเอื้อให้การติดตามพัฒนาการง่ายขึ้นด้วย  จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงว่ามิติด้านการบริหารและนโยบายย่อมมีความสำคัญต่อการสร้างห้องเรียนที่ดีพอ ๆ กับความสามารถของครู

ท้ายที่สุด เรายังเห็นความรู้สึกไม่สบายใจกับความขี้อายของอิไลซา ซึ่งเป็นคนที่เก่งแต่เข้าสังคมไม่เก่งนัก  ทำให้ครูกลัวว่าเธอจะไม่สามารถเข้ากับสังคมใหม่ของโรงเรียนได้  เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่การศึกษาปัจจุบันมีการกำหนดทิศทางเป็นการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ครูควรคำนึงเช่นกันว่า นักเรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้ได้ดีในสภาพการเรียนที่ต่างกัน สิ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ครูในไทยจะต้องเจอ คือการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันให้กับนักเรียนที่มีบุคลิกภาพแตกต่างกัน

การเรียนคือการสร้างอำนาจให้กับผู้เรียน เราเห็นถึงหลักการนี้ในทุกตอนของเรื่อง  ในขณะที่โรงเรียนไทยเลือกใช้การรวมตัวเพื่อเข้าแถวตอนเช้าในการย้ำกฎเกณฑ์ที่ห้ามทำ และการทำโทษผู้กระทำผิด  เราสามารถเลือกจะใช้เวลาส่วนนี้ในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมได้ โดยเราต้องเริ่มจากให้อำนาจนักเรียนในการแสดงเหตุผล สนับสนุนความเป็นปัจเจก และความรู้สึกว่าเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานไปสู่การจินตนาการอนาคตของตนเองและสังคม และกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเมื่อพบเห็นสิ่งที่เขามองว่าไม่เป็นธรรม

ดาวน์โหลด pdf


ภี อาภรณ์เอี่ยม บัณฑิตรัฐศาสตร์ และอดีตนักวิจัย ผู้รักการอ่านหนังสือ ถกเถียงประเด็นปรัชญากับการเมือง และเรียนภาษาใหม่ๆ