ถ้าเราลองให้อาจารย์ด้านการกำกับภาพยนตร์ได้ออกแบบระบบคัดเลือกนักเรียนที่ในอนาคตจะมีโอกาสเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก ฟรานสิส คาโปลา หรือนัฐวุฒิ พูนพิริยะ คุณคิดว่าเราจะได้ระบบแบบไหนออกมา?

คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้คือการให้นักเรียนทั้งหมดที่สนใจเรียนด้านภาพยนตร์ทำข้อสอบระดับชาติที่เป็นคำถามปรนัย นำคะแนนมาคัดเลือกคนเข้าเรียน โดยคาดหวังว่านักเรียนที่ทำข้อสอบได้คะแนนดีจะสั่งสมความชอบและความสามารถเพียงพอที่จะเป็นคนทำหนังที่ดีได้ในระหว่างที่เขาเรียนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาอาจแค่สมัครเรียนตามกระแสสังคมโดยไม่รู้ว่าตนเองสนใจอะไร

สารคดีเรื่อง the Graduation เสนอให้เราเห็นทางออกอีกทางหนึ่งที่ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับทางแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ติดตามระบบการคัดเลือกสุดโหดหินของโรงเรียน La Fémis (ลาเฟมีส) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนการสร้างภาพยนตร์ชั้นนำของฝรั่งเศส  มีผู้เข้ารับการคัดเลือกมาจากหลากหลายภูมิหลัง ต่างล้วนมีความสนใจในการสร้างภาพยนตร์  สารคดี ใช้ระบบการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียน โดยมีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยอาจารย์และบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการสร้างภาพยนตร์จริงประเมินความสามารถของผู้สมัครในทุกด้าน ด้วยความหวังว่าจะได้นักเรียนที่มีคุณภาพเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้

ตัวตนของผู้สมัคร ตัวตนของผู้คัดเลือก

ผู้สมัครจะต้องผ่านขั้นตอนการสอบ 3 ขั้น ได้แก่ การสอบข้อเขียน การทดลองสร้างผลงาน และการสอบสัมภาษณ์  ในการสอบอัตนัย ผู้สมัครต้องเขียนบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่ตนไม่เคยดูมาก่อน (ในเรื่องเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น) จากนั้นบทวิเคราะห์จะถูกให้คะแนนโดยคณะกรรมการ 2 ราย แล้วจึงเอาคะแนนมารวมกันเพื่อประเมินหาผู้ผ่านเข้ารอบ  ในรอบที่ 2 นี้ ผู้สมัครจะได้รับโจทย์และทดลองสร้างผลงานจริง เช่น ผู้ที่สมัครสาขาการกำกับ จะต้องทดลองกำกับภาพยนตร์จากโจทย์ที่ได้รับ แล้วผลงานจะถูกนำมาวิจารณ์และประเมินโดยคณะกรรมการ อาจมีการสัมภาษณ์ภูมิหลังของนักเรียนร่วมด้วย  ส่วนในการสอบรอบสุดท้าย ผู้สมัครจะเข้าสอบสัมภาษณ์ คำถามที่ใช้มีหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ คำถามส่วนตัวเพื่อดูแรงจูงใจในการเรียน เช่น ทำไมถึงอยากเรียนด้านนี้  คำถามเกี่ยวกับผลงานที่ทำ เช่น ต้องการสื่ออะไรในภาพยนตร์ที่ตนทำ ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับความต้องการในอนาคต เช่น ต้องการจะเป็นผู้กำกับหรืออยากเป็นผู้บริหารโรงภาพยนตร์มากกว่ากัน

ข้อดีที่สำคัญในระบบคัดเลือกเช่นนี้ที่ผู้ชมอาจมองเห็นได้ชัดเจนคือ การพยายามสร้างระบบรับเข้าที่ผลักดันให้นักเรียนแสดงความความสามารถของตัวเองและความต้องการเรียน  วิธีคัดเลือกแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยากเรียนต้องมีประสบการณ์ในการสร้างภาพยนตร์มาแล้วในระดับหนึ่ง และมีความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำ หัวใจของการสอบลักษณะนี้คือการสอบที่เน้นข้อสอบอัตนัยและการปฏิบัติจริง ผู้สมัครสามารถแสดงความคิดเห็นและศักยภาพ มุมมองของตนเองได้เต็มที่ แม้มันจะยากต่อการวัดผล

การเลือกสร้างระบบการสอบที่เน้นการสอบอัตนัยและการปฏิบัติตั้งอยู่บนสมมติฐานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการใช้ข้อสอบแบบปรนัยที่มีถูกมีผิด

ในไทยการเลือกใช้ข้อสอบปรนัยตั้งอยู่บนความสะดวก และความไม่ไว้วางใจผู้ตรวจข้อสอบ ด้วยข้อสอบปรนัยแบบเป็นตัวเลือกหรือเติมคำแบบสั้นมีคำตอบที่ถูกผิดตายตัว ทำให้ง่ายต่อผู้ตรวจข้อสอบในการให้คะแนนได้อย่างชัดเจนเป็นวัตถุวิสัย (objective) ไม่ต้องพึ่งพาการใช้วิจารณญาณของผู้ตรวจข้อสอบ ซึ่งถูกมองว่าไม่สามารถเชื่อถือได้ และก่อให้เกิดความลำเอียงในการพิจารณาให้คะแนน  แต่สิ่งที่ต้องแลกคือการออกแบบข้อสอบที่ไม่เปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน ซึ่งไม่ได้มีเพียงถูกหรือผิด ซึ่งการทดสอบอาจไม่ใช่ประเมินที่เกณฑ์ระดับคะแนนซึ่งเป็นผลจากการทำข้อสอบปรนัยเพียงอย่างดียว แต่สามารถประเมินด้วยเกณฑ์อื่น ๆ ที่สะท้อนความสามารถจริง เช่น ความแปลกใหม่น่าสนใจของบทความ ความสมเหตุสมผลของประเด็นที่เขียน หรือความสัมพันธ์ของตัวบท เป็นต้น  เห็นได้ชัดเจนว่าการสอบแบบปรนัยที่ไทยใช้ประจำกลับเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์กับผู้ตรวจข้อสอบมากกว่าตัวนักเรียนผู้สอบ

ในทางกลับกัน ตัวอย่างการคัดเลือกของ La Fémis  แสดงให้เห็นระบบการคัดเลือกที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระบบเช่นนี้มองว่าการสอบแบบปรนัยและสอบปฏิบัติเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแสดงความคิดของตนเองอย่างเต็มที่ ดังนั้นระบบการประเมินจึงต้องรองรับความหลากหลายทางความคิดนี้ด้วย

การคัดเลือกแบบ La Fémis  ไม่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้วิจารณญาณของกรรมการคุมสอบ แต่กลับมองว่าความคิดเห็นของคณะกรรมการเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้ เพราะกรรมการได้รับการคัดสรรมาแล้วจากผู้มีประสบการณ์จริง  เมื่อเปิดให้กรรมการใช้ความคิดเห็น จึงต้องตามมาด้วยการสร้างสมดุลของความหลากหลายทางความคิดของคณะกรรมการ  โดยผ่านการโต้เถียงด้วยเหตุผลของคณะกรรมการว่าเด็กคนหนึ่งเหมาะสมจะเข้าเรียนหรือไม่  อีกทั้งยังสร้างระบบให้คะแนนที่ช่วยลดความลำเอียงโดยการให้คะแนนผู้สมัครคนเดียวกันโดยกรรมการมากกว่าหนึ่งราย

อย่างไรก็ตาม ระบบคัดเลือกแบบนี้วางอยู่บนฐานคิดว่าคณะกรรมการมีความสามารถและมีอำนาจเพียงพอจะตัดสินใจได้ว่างานแบบไหน “ดี” และ “ไม่ดี” โดยคณะกรรมการมีการคัดเลือกอย่างจริงจังผ่านการโต้เถียง ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน นั่นคือความคิดเห็นของคณะกรรมการมีความถูกต้องแค่ไหน และควรให้อำนาจใครในการตัดสินความเหมาะสมในการเรียนสาขาใดก็ตาม

มาตรฐานอะไรและมาตรฐานของใคร?

ในบางกรณี การสอบที่เน้นการปฏิบัติอาจไม่ใช่มาตรวัดความสามารถของผู้สมัครที่ดีนัก  การสอบข้อเขียนปลายเปิดและการสอบสัมภาษณ์อาจเผยให้เห็นความสามารถในการวิเคราะห์ แต่ก็เป็นข้อกำจัดสำหรับผู้สมัครบางประเภทที่อาจมีข้อกำจัดในการใช้ภาษา แต่อาจมีความสามารถในการถ่ายทอดในรูปของภาพมากกว่า ทำให้คนในกลุ่มนี้ก็จะถูกคัดออกตั้งแต่รอบแรก โดยไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถในรอบถัดมา ซึ่งกรรมการคุมสอบในเรื่องเองก็ยังต้องเตือนกันและกันว่าให้ระวังผู้สมัครที่เรียนจาก ซิอองส์ โป (Science Po) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ ที่อาจได้รับคะแนนมากกว่าผู้สมัครรายอื่นเพียงเพราะทักษะด้านภาษาที่ดีช่วยให้อธิบายความคิดตัวเองได้ดีกว่า  ในขณะเดียวกัน การสอบรอบ 2 เป็นตัวช่วยเผยให้เห็นประสบการณ์ แต่ก็อาจทำให้ต้องคัดผู้สมัครบางรายที่ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีภายใต้แรงกดดันในห้องสอบได้

ต้องยอมรับว่าการประเมินโดยการให้คะแนนของกรรมการก็อาจแฝงด้วยอคติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ในบางกรณีที่กรรมการอาจแสดงความคิดเห็นว่าผู้เข้าสมัครคนหนึ่งมีความไม่เหมาะสมเพียงเพราะมีลักษณะนิสัยที่ดูก้าวร้าวมากเกินไป เช่นเป็นคนชอบสั่งการ ซึ่งกรรมการบางรายเห็นว่าลักษณะแบบนี้เป็นปัญหาต่อตัวเขาเองเมื่อเขาเข้ามาเรียนและต้องสร้างภาพยนตร์จริง  ในขณะที่กรรมการอีกท่านหนึ่งเห็นว่าคนคนนี้มีความมุ่งมั่น  การปะทะทางความคิดเช่นนี้อาจเปิดปัญหาหากไม่มีการถ่วงดุลภายในคณะกรรมการเอง เพราะจะทำเกิดการคัดผู้สมัครออกด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนเลย

ท้ายที่สุด การเลือกกลุ่มของคณะกรรมการยังส่งผลอย่างมากต่อระบบการคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากกรรมการแต่ละคนก็มีวิสัยทัศน์ในการสร้างบุคลากรที่แตกต่างกัน  ในสารคดีจะเห็นได้ว่าการคัดเลือกยังมีอิทธิพลของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อยู่มาก วิสัยทัศน์ของนักเรียนด้านภาพยนตร์ที่เหมาะสมจึงหมายถึงคนที่สามารถทำงานในวงการได้จริง รวมทั้งมีเป้าหมายที่พร้อมในการบริหารโรงภาพยนตร์ด้วย

การคัดเลือกโดยคนกลุ่มเดียวกัน หรือคนที่มีประสบการณ์ในวงการอย่างยาวนานสามารถนำไปสู่สภาวะอนุรักษ์นิยมในวงการได้  บุคลากรในวงการมักใช้แนวคิดที่ทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จมาตัดสินบุคลากรรุ่นใหม่ ส่งผลสู่การหยุดชะงักของความคิดสร้างสรรค์ในวงการสร้างภาพยนตร์  ปัญหาของการยึดครองพื้นที่ความคิดด้วยผู้เชี่ยวชาญในวงการเดียวยังเกิดขึ้นในวงการอื่นๆ ด้วย เช่น การวางนโยบายสาธารณะที่มักมีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ เพียงอย่างเดียว

แม้ว่าระบบการสอบแบบอัตนัยมีปัญหามาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่ใช้ปรนัยเป็นหลักและใช้การสัมภาษณ์เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นแล้ว ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มความสำคัญให้กับการคัดเลือกด้วยข้อสอบอัตนัยและข้อสอบปฏิบัติ โดยใช้บทเรียนจากสารคดีเรื่องนี้เป็นเครื่องเตือนใจ ว่าระบบคัดเลือกต้องมีความโปร่งใส โดยมีหลักการที่ชัดเจนในการสร้างบุคลากร และสร้างระบบที่ลดการใช้อคติของกรรมการตัดสินให้ได้มากที่สุด  อีกทั้งควรเพิ่มความสำคัญของการจัดกลุ่มของคณะกรรมการคัดเลือกที่หลายหลาย เช่น ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ทำงานในวงการจริง และกรรมการที่มาจากฝ่ายวิชาการที่ต้องการนักเรียนที่นำเสนอสิ่งใหม่ให้กับวงการนั้นๆ เป็นต้น  แม้ระบบนี้จะไม่ได้ช่วยเราหาสตีเวน สปีลเบิร์ก คนต่อไปพบ แต่ก็ช่วยทำให้ผู้ที่มีความสามารถไม่ถูกตัดโอกาสได้รับการศึกษาที่เขาควรได้รับ

ดาวน์โหลด pdf


ภี อาภรณ์เอี่ยม บัณฑิตรัฐศาสตร์ และอดีตนักวิจัย ผู้รักการอ่านหนังสือ ถกเถียงประเด็นปรัชญากับการเมือง และเรียนภาษาใหม่ๆ